วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Portrait of a Beauty



Portrait of a Beauty เป็นภาพเขียนลือชื่อและนับเป็นมรดกของชาติเกาหลี ผู้สร้างผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงบุกเบิกภาพเขียนเชิงสังวาสในวงการศิลปะเกาหลีเท่านั้น แต่จิตรกรผู้นี้ยังมีชีวิตที่หวือหวา ทิ้งปริศนามากมายมาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นวัตถุดิบให้กับนิยายระดับเบสเซลเลอร์ ซึ่งต่อมานิยายเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับซีรีส์เรื่อง Painter of the Wind และ Portrait of a Beauty
ทั้งภาพยนตร์ หนังสือ และซีรีส์ ล้วนอิงกับชีวิตจริงของจิตรกรหนุ่มยุคโชซอนนามว่า ชินยุนบก ผู้ที่ใช้นามแฝงงดงามว่า ฮเยวอน หรืออุทยานกล้วยไม้อันเป็นนามของสตรี นามแฝงนี่เองที่ Portrait of a Beauty นำมาตีไข่ใส่สีเสียใหม่ว่า แท้จริงแล้วจิตรกรหนุ่มผู้โด่งดังคือ หญิงสาวที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ในคราบของบุรุษ และไม่อาจเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ ด้วยแรงบีบคั้นจากสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้สตรีได้จับพู่กันแต่งแต้มสีสันใน ฐานะจิตรกร
ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีองค์ประกอบของการซุกซ่อนเพศสภาพที่แท้จริง แต่ Portrait of a Beauty ไม่ได้เล่นกับความเบี่ยงเบนทางเพศอย่างโจ่งแจ้งเหมือนกับ Frozen Flower ตรงกันข้ามหนังกลับซ่อนประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือความความซับซ้อนของสังคม ที่โยงใยถึงบทบาทและความรักระหว่างเพศชายหญิงและชนชั้นสูงและล่าง
สำหรับ สตรียุคโชซอน พวกนางจะไม่ได้รับโอกาสและการยกย่องทางสังคม ยกเว้นนางตัดสินใจเข้าสู่โลกแห่งคณิกาหรือกีแซง ซึ่งเป็นหญิงบริการที่ไม่ขายความสุขทางเพศ แต่บำเรอบุรุษด้วยศิลปะ ดนตรี และมารยาทงดงาม กวีสตรีของเกาหลีแต่โบราณล้วนแต่เป็นกีแซงทั้งสิ้น

Portrait of a Beauty กับ Painter of the Wind (ซีรีส์) เล่นกับความหลงใหลของชินยุนบกต่อกีแซงมากเป็นพิเศษ ซีรีส์เรื่องหลังจับให้จิตรกรหลงใหลความงามของกีแซงนางหนึ่งถึงขั้นเฝ้า เทียวพบนางทุกเช้าค่ำ แม้ในซีรีส์จะไม่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง แต่ทั้งคู่อาจมีสัมพันธ์ในแบบหญิงรักหญิงในระดับหนึ่ง
ใน Portrait of a Beauty เล่นกับความวกวนกับความสัมพันธ์เช่นนี้เหมือนกัน แต่วางโครงเรื่องต่างกัน ความสัมพันธ์ของชินยุนบก (รับบทโดย คิมมินซอน) กับกีแซงนางนี้ (ชูจาฮยอน) มีนัยที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะที่ชินยุนบกหลงใหลในชีวิตของคณิกาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ไม่ใช่เพราะความต้องการทางเพศที่ถูกบิดเบือนจากเปลือกนอกที่เป็นชาย แต่มาจากแรงขับด้านในที่เป็นหญิง
เพราะแม้จิตรกรจะไต่เต้าตนเองจน ก้าวสู่จุดสูงสุดแห่งวงการศิลปะ แต่ไม่อาจภูมิใจกับตัวเองได้ เพราะผู้ที่สร้างชื่อคือ ชินยุนบก (บุรุษ) ไม่ใช่ ฮเยวอน (สตรี) ที่ซ่อนไว้ในนามแฝง ผิดกับกีแซงที่แม้จะคลับคล้ายว่าจะถูกจัดอยู่ในมุมมืด แต่พวกนางกลับสามารถใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย สร้างชื่อเสียงด้วยชื่อของตนเอง สามารถเดินอยู่บนถนนสังคมอย่างไม่ต้องหลบซ่อนผู้ใด

ชินยุนบก สามารถเปิดเผยตัวตนผ่านทางสองสิ่งเท่านั้น คือ ภาพเขียนและกระจกของชายผู้เร่ขายกระจกจากสกุลต่ำชั้น (คิมนัมกิล) ผู้ที่นางสานความสัมพันธ์แบบเนื้อแนบเนื้อ
ใบหน้าที่มองเห็นบนกระจก เงา ไม่ใช่ใบหน้าของบุรุษ แต่เป็นสตรีในวัยสะคราญ พ่อค้าหนุ่มจากฐานันดรสามัญผู้เอ่ยถ้อยคำลึกซึ้งว่า กระจกไม่เคยโกหกใคร และไม่มีใครเคยโกหกกระจกได้ ได้เปิดเส้นชีวิตสายใหม่ ชินยุนบก จิตรกรเลือกที่จะเปิดเผยเพศที่แท้จริงกับคนที่นางรักอย่างแท้จริง ปลดเปลื้องกายและใจในท่ามกลางเงาสะท้อนของกระจกที่มีอยู่ทุกหนแห่ง เมื่อจิตรกรสาวและพ่อค้าหนุ่มอยู่ด้วยกัน
ภาพเขียนคือ อีกหนึ่งช่องทางการเปิดเผยตัวตนอย่างที่เปรยไว้ว่า Portrait of a Beauty คือ ภาพเขียนของสตรีนิรนามจากปลายพู่กันของชินยุนบก แต่ความสำคัญของภาพนี้มิใช่เพียงความเป็นมรดกแห่งชาติ หรือความเป็นภาพเหมือนชิ้นเอกของศิลปะตะวันออก แต่อยู่ที่การเล่นกับชื่อของภาพ

Portrait of a Beauty คือ ภาพเหมือนแบบเหมือนจริงและในสมัยโบราณภาพเหมือนจริงในโลกตะวันออกถูกเรียก ว่า ภาพกระจก นัยของภาพจึงมีค่าเท่ากับการเปิดเผยตัวตนและจิตใจเหมือนกับสะท้อนลงบนกระจก เงา
กระจกและภาพพู่กันยังสะท้อนสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่าง ชินยุนบกกับพ่อค้ากระจกและคิมฮองโดหรือทันวอน ผู้เป็นอาจารย์และศิลปินมีชื่อของเกาหลีคิมฮองโด (คิมยองโฮ) ยังมีสัมพันธ์ที่ซุกซ่อนไว้เนิ่นนานกับกีแซงที่รับบาทโดย ชูจาฮยอน ซึ่งต่อมากีแซงนางนี้ผู้คลายปมเงื่อนความสัมพันธ์หลายเส้านี้
ความ สัมพันธ์หลายเส้าไม่เคยจบลงด้วยดี กีแซงนางนั้นแม้เป็นที่หมายปองของผู้คนทั่วหล้า แต่นางฝากหัวใจไว้ที่คิมฮองโด ผู้เดียว แต่แล้วคิมฮองโดไม่เคยพบความรักในหัวใจตัวเองหรือหญิงนางอื่นจนกระทั่งพบชิน ยุนบก แต่ท้ายที่สุดแล้วความสัมพันธ์ของศิษย์อาจารย์คู่นี้ก็ได้เพียงแค่ร่วมเขียน ภาพดอกเหมยกับกลีบดอกท้อ แม้จะอยู่บนกระดาษแผ่นเดียวกัน แต่กิ่งช่อได้เพียงเอื้อมกิ่งเข้าหา ไม่อาจเกี่ยวรัดรึงเป็นหนึ่งเดียว นี่คือเหตุผลว่า ทำไมแววตาของภาพเขียนหญิงงามจึงเศร้าสร้อยเดียวดาย